top of page
Top page

Travel Blogger

Casual talk #3

Coffee & Casual Talk #3 # Travel Blogger

Our home

วิษณุ เทศขยัน   ผู้ก่อตั้ง Once more community สร้างสรรค์งานด้านสื่อและการสื่อสาร,   อังสนา เทศขยัน    ผู้ก่อตั้ง Once more community, อดีตผู้บริหารบริษัททีวีบูรพา ประสบการณ์ด้านรายการสารคดี รายการข่าวและรายการวิทยุ

Our friends

เอกประวัติ สวัสดิ์โรจน์   ผู้ก่อตั้งเพจ #เที่ยวจนไม่มีจะแดก  กับสโลแกนประจำเพจว่า “นิยามของคนชอบเที่ยว” ที่ยอมแลกหลายๆอย่างเพื่อเป้าหมายเดียวกัน, 

กฤษนันท์ สุวรรณวิเชียร   ผู้ก่อตั้งเพจ #เที่ยวก่อนตาย Bucket list TH   ที่มองว่าการเดินไม่ใช่แค่สนุก แต่เป็นการสร้างโอกาสใหม่ให้กับชีวิต,   สุชา ไชยราช   #สติสตางค์   คนรุ่นใหม่ที่เป็นเบื้องหลังคนทำเพจดังๆหลายเพจ แต่วันนี้เริ่มหันมาทำเพจตัวเอง ด้วยความคิดว่า ทุกที่ ที่ได้เดินทางไปต้องสามารถทำให้คนสนุกได้,   รุ่งนคร ยอดคำตัน   ผู้ก่อตั้งเพจ #TripTH ทริปไทยแลนด์  เริ่มต้นการเที่ยวแบบ Backpack หลังจากวันนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเสพติดการเดินทางเรื่อยมา,   ภัทรารวีย์ เกตุธีรโรจน์   #เที่ยวแบบกรู  กับสโลแกนอย่าให้การมีลูกเป็นอุปสรรคของการเดินทาง พาลูกไปท่องโลกกว้างกันเถอะ,   นิชนันท์ กิตติคุณ   คนทำงานสายเขียนบทสารคดี มือเขียนสคริปต์รายการ,  Speech และ งานอีเว้นท์ สนใจโลกออนไลน์และปรับตัวมา ในส่วนที่ตัวเองถนัด #ContentCreator 

Gallery

Gallery

Podcast

ภาพโดย โชติกา พรมจักร์

Podcast

Screen Shot 2563-03-12 at 18.25.41.png
Screen Shot 2563-03-12 at 18.24.47.png
Screen Shot 2563-03-12 at 18.25.11.png
Screen Shot 2563-03-12 at 18.26.27.png
Casual Talk คุยง่ายๆ ได้แรงบันดาลใจ ครั้งที่ 3 "Travel Blogger"
ตอนที่ 1 บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว งานในฝันของคนรุ่นใหม่ที่เติบโตและขยายตัวต่อเนื่อง สร้างเพจและเนื้อหาอย่างไรให้โดนใจผู้ติดตาม เมื่อมีรายได้จากการโฆษณาต่างๆต้องปรับตัวตนอย่างไร ปัญหาของการทำงานในวันนี้คืออะไร แก้ไขหรือมีทางออกอย่างไร คุยกับเพจอันดับต้นๆของเมืองไทย 4 เพจ 4 สไตล์ 4 มุมมอง #TripTH ทริปไทยแลนด์ #เที่ยวแบบกรู #เที่ยวก่อนตาย #เที่ยวจนไม่มีจะแดก
Casual Talk คุยง่ายๆ ได้แรงบันดาลใจ ครั้งที่ 3 "Travel Blogger"
ตอนที่ 2 แนวโน้มของงานบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวในปี 2020 นี้ มุมมองในอนาคตที่ทั้ง 4 เจ้าของเพจมองและคาดการณ์ จำนวนบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งพวกเขาและในภาพรวมที่เกี่ยวเนื่อง แนวทางในการแก้ปัญหาและแนวคิดในการพัฒนาวงการบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจงานการเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว จาก 4 เพจ 4 สไตล์ 4 มุมมอง #TripTH ทริปไทยแลนด์ #เที่ยวแบบกรู #เที่ยวก่อนตาย #เที่ยวจนไม่มีจะแดก
Full Article

Feature Article

ตามรอยเส้นทางเพจท่องเที่ยวดัง

 

เมื่อเหล่าบล็อกเกอร์มาล้อมวงรีวิวการเดินทาง   

และการเติบโตในโลกออนไลน์ของตัวเอง

 

ที่พักหลักร้อย วิวหลักล้าน...      ชาร์จแบตให้ชีวิต...       จุดเช็คอินใหม่...     

สถานที่ดีต่อใจ...     คาเฟ่ลับ ที่เที่ยวอันซีน...

 

เราอาจคุ้นตากับวลีเด็ดเหล่านี้ จากเพจท่องเที่ยวต่าง ๆ ใน Facebook ซึ่งเมื่อประกอบกับภาพสวย ๆ ที่ถูกจัดวางมาอย่างลงตัว หลายครั้งก็เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาเก็บกระเป๋าออกเดินทาง บางคนกล้าลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียวเป็นครั้งแรก บางคนกล้าไปในจุดหมายปลายทางที่ไม่เคยฝันถึง บางคนกล้ากระเตงลูกเล็ก ๆ ออกผจญโลก ยังไม่รวมชุมชนหลายแห่งที่คึกคักและเข้มแข็งขึ้นเพราะการมาถึงของนักท่องเที่ยว และแน่นอน การท่องเที่ยวนั้นช่วยดึงให้ผู้คนนำเงินออกมาหมุนเวียนใช้จ่าย พร้อมกับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต

 

บุคคลเบื้องหลังเพจเหล่านี้ หรือที่เราเรียกกันว่า บล็อกเกอร์ท่องเที่ยว จึงมีบทบาทที่น่าสนใจไม่น้อย อาชีพนี้ยังกลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปัจจุบันเปลี่ยนผู้เสพสื่อให้กลายเป็นผู้ผลิตสื่อได้อย่างเต็มตัว ในเมื่อใคร ๆ ก็สร้างคอนเทนต์เองได้ จำนวนผู้คนที่ผันตัวมาเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวจึงเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อย ๆ  แต่ละเพจก็มีแนวทางการนำเสนอที่หลากหลาย จนคาดการณ์ว่ามีเพจท่องเที่ยวที่มียอดผู้ติดตามระหว่าง 10,000 – 30,000 คน ประมาณ 500 เพจ และเพจท่องเที่ยวที่มียอดผู้ติดตามมากกว่า 30,000 คนขึ้นไป ประมาณ 400 เพจ ในจำนวนนั้นมีหลายเพจทีเดียวที่มียอดผู้ติดตามสูงหลักล้าน ซึ่งในกลุ่มหลังนี้สามารถสร้างรายได้รวมถึงประมาณ 700 ล้านบาทในปีผ่านมา 

 

ครั้งนี้ ตัวแทนเพื่อนพ้องน้องพี่ในวงการบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว จึงมารวมตัวกันในบรรยากาศสบาย ๆ บ่ายวันศุกร์ จิบกาแฟ และแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการเติบโตของอาชีพที่พวกเขารัก วงสนทนาเล็ก ๆ อบอุ่นเป็นกันเองนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ Coffee & Casual Talk ครั้งที่ 3 จัดขึ้นโดยคุณวิษณุ เทศขยัน และคุณอังสนา เทศขยัน ผู้ก่อตั้ง Once More Community ภายใต้แนวคิด “คุยง่าย ๆ ได้แรงบันดาลใจ” เพื่อชวนเพื่อน ๆ ในสายอาชีพต่าง ๆ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจคาดเดา  

 

 

 

 

การเติบโตบนโลกออนไลน์ 

...จากคนชอบเที่ยว สู่บล็อกเกอร์มืออาชีพ... 

 

 

“ หากวันใดเห็นเราเลิกเที่ยว โปรดจงรู้ไว้ เดือนนั้นเงินกรูช็อต ”

 

เที่ยวจนไม่มีจะแดก คือชื่อเพจที่บอกถึงตัวตนสนุกสนานของคุณอิฐ เจ้าของเพจได้เป็นอย่างดี ในฐานะคนชอบเที่ยว ที่อย่างไรก็จะขอเที่ยวแม้จะต้องกลับมากระเป๋าแฟบก็ตาม แนวคิดตรง ๆ ง่าย ๆ ที่พูดแทนความรู้สึกของคนส่วนมากได้ตรงใจ และดึงให้เจ้าของเพจกับคนอ่านเข้ามาใกล้ชิดกันมากขึ้นเช่นนี้ ทำให้มียอดผู้ติดตามเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งแตะหลักแสนในปัจจุบัน 

 

เพจของคุณอิฐเป็นเพจยุคแรก ๆ ที่เน้นการใช้คลิปวิดีโอแทนภาพนิ่ง ประกอบกับการโพสต์ Caption สั้น ๆ แต่โดนใจ กลายมาเป็นจุดเด่นของเพจที่เรียกยอดไลค์ได้ไม่น้อยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงจุดที่เริ่มมีรายได้จากการทำเพจ คุณอิฐก็ยังคงไม่ทิ้งงานประจำ และเลือกที่จะทำทั้งสองอย่างควบคู่กันไป

 

 

“ อย่าให้การมีลูกเป็นอุปสรรคของการเดินทาง พาลูกท่องโลกกว้างกันเถอะ ”

 

นี่คือคำจำกัดความของเพจเที่ยวแบบกรู ซึ่งแม่ไข่ หรือคุณไข่มุก ผู้หลงรักการท่องเที่ยว มักจะพาลูกสาวตัวจิ๋ว น้องเมลลี่ ออกไปเปิดโลกกว้างด้วยกันเสมอ ด้วยต้องการเปลี่ยนทัศนคติของคนทั่วไป ว่าแม่ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกเท่านั้น มนุษย์แม่ยุคใหม่สามารถพาลูก ๆ ออกไปสร้างการเรียนรู้นอกบ้าน รวมถึงสร้างช่วงเวลาดี ๆ ร่วมกันได้ 

 

สไตล์การท่องเที่ยวของครอบครัวแม่ไข่จะเน้นความเรียบง่าย สนุก ไม่ถูกหรือแพงเกินไป ใคร ๆ ก็เที่ยวตามได้ ปัจจุบันคุณไข่มุกหันมายึดอาชีพบล็อกเกอร์แบบเต็มตัว และเมื่อถามว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้เพจมียอดผู้ติดตามถึง 5 แสนคน คุณไข่มุกตอบได้ทันทีว่า “ไม่ยึดติดกับยอดไลค์ แต่ทำในสิ่งที่อยากทำ ทำในสิ่งที่มีความสุข”

 

 

“ ถ้ายังไม่ไป ห้ามตายเด็ดขาด!! ”

 

คุณบีม เจ้าของเพจเที่ยวก่อนตาย Bucket list TH คือเด็กหนุ่มที่เพิ่งจบปริญญาเพียงไม่นาน แต่ในวงการ Blogger เราอาจต้องเรียกเขาว่าพี่ เพราะคุณบีมเก็บเกี่ยวประสบการณ์มาไม่น้อย จากการเริ่มต้นทำเพจตั้งแต่อยู่ปี 1 เท่านั้นเอง โดยเริ่มถามตัวเองก่อนเลยว่าชอบอะไร และเมื่อได้คำตอบว่าชอบเที่ยว เขาก็ลงมือทำเพจทันทีโดยไม่รีรอ ด้วยความที่ยังเป็นนักศึกษา ตอนนั้นจึงเน้นเที่ยวแบบงบน้อย ลีลาการเขียนเป็นกันเอง มีคำไม่สุภาพบ้าง ซึ่งโดนใจผู้ติดตามเพจซึ่งเป็นคนวัยเดียวกัน และเมื่อเพจค่อย ๆ โตขึ้น ฐานแฟนเพจเหล่านั้นก็ค่อย ๆ เติบโตขึ้นพร้อมกับคุณบีมเช่นกัน มีกำลังทรัพย์ที่จะเที่ยวด้วยงบที่แพงขึ้นหรือเที่ยวต่างประเทศได้ 

 

แม้ว่าทุกวันนี้ คุณบีมจะต้องปรับสไตล์การเขียนให้สุภาพขึ้น เพราะบางครั้งเป็นการทำคอนเทนต์ให้ลูกค้า แต่ลีลาการเขียนสนุก ๆ สบาย ๆ และให้ข้อมูลเส้นทางตามรอยที่ชัดเจน ก็ยังเป็นจุดเด่นที่ทำให้มีผู้ติดตามมากกว่า 300,000 คน เคล็ดลับของคุณบีม ไม่มีอะไรมากไปกว่า “อยากอ่านรีวิวแบบไหน เราก็เขียนแบบนั้นครับ”

 

 

“ เราอยากให้คนอื่นได้เห็นโลก ในแบบที่เราเห็น ”

 

เมื่อคู่รัก Backpack อย่างคุณรุ่งและคุณดาว เริ่มรู้สึกว่าข้อมูลท่องเที่ยวในโลกออนไลน์นั้นไม่เพียงพอและไม่ตอบโจทย์คนชอบเที่ยวแบบตนเอง ทั้งคู่จึงเริ่มสร้างเพจ TripTH ทริปไทยแลนด์ ขึ้น เพื่อให้ข้อมูลรีวิวที่เที่ยว ที่พัก ที่กิน ที่จะเป็นประโยชน์กับคนไทย 

 

และเมื่อเพจเริ่มสร้างรายได้หลังจากเดินหน้าทำไปได้ 2 ปี คุณรุ่งจึงตัดสินใจทำเป็นอาชีพอย่างจริงจัง ปัจจุบันมีบริษัทและมีทีม Blogger ช่วยกันผลิตคอนเทนต์โดยมีพันธกิจว่า “อยากทำคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม” ซึ่งคุณรุ่งจะไม่เอาความต้องการของตนเองเป็นที่ตั้ง แต่จะประเมินว่าคนอ่านชอบอะไร และพยายามทำคอนเทนต์ตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ของประเทศให้ได้มากที่สุด และนี่เองเป็นเคล็ดลับที่ทำให้วันนี้คุณรุ่งมียอดผู้ติดตามถึง 3,000,000 คน

บล็อกเกอร์มากประสบการณ์ทั้ง 4 ท่าน ต่างก็วางตัวตนบนโลกออนไลน์ไว้แตกต่างกัน และทุกคนเริ่มทำเพจเพราะใจรัก ก่อนจะเริ่มเห็นศักยภาพในการทำเป็นอาชีพ หลายคนยอมรับว่า จากที่เคยเริ่มทำสนุก ๆ ในวันแรก ในวันนี้พวกเขาต้องคำนึงถึงการตลาด และวิ่งตามให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกโซเชียล ขณะเดียวกันก็ต้องรักษามาตรฐานและความเป็นตัวเองไว้ให้ได้ด้วย อย่างเช่นที่คุณรุ่งเชื่อว่า โจทย์ของลูกค้า กับคอนเทนต์ดี ๆ ยังสามารถไปด้วยกันได้เสมอ

 

 

 

 

เทรนด์ใหม่และความท้าทายของบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว 

 

ถ้าใครก้าวเท้าเข้าสู่วงการบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวแล้ว ก็จะเข้าใจว่า การไปเที่ยวแล้วกลับมาเขียนรีวิว ไม่ได้ง่ายอย่างที่คนทั่วไปคิดแน่นอน เพราะบล็อกเกอร์จะต้องทำการบ้านกับข้อมูลเยอะมาก ๆ ต้องมีความไว ใครลงคอนเทนต์ก่อนชนะ ต้องรักษาความถี่ในการโพสต์สม่ำเสมอ ทั้งยังต้องสร้างสรรค์งานภาพและงานเขียนตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา   และความท้าทายของพวกเขาก็ยังไม่หมดเพียงแค่นี้

 

 

Facebook Algorithm ...วิกฤตหรือโอกาส...

 

ขณะที่เจ้าของเพจทั้งหลายต่างกังวลกับการเอาชนะ Facebook Algorithm ซึ่งจะเป็นตัวคัดเลือกคอนเทนต์ต่าง ๆ ให้แสดงบนหน้าฟีดของผู้ใช้งาน บล็อกเกอร์ท่องเที่ยวบางส่วนกลับไม่สะทกสะท้าน แถมยังเห็นโอกาสจากเจ้า Algorithm นี้ด้วย 

 

งานนี้ คุณบีมและคุณรุ่งต่างก็เห็นตรงกันว่า คอนเทนต์สำคัญที่สุด หน้าที่ของเราคือการทำคอนเทนต์ให้ดี โดดเด่น แตกต่าง เพียงพอที่จะดึงดูดให้คนอ่านใช้เวลากับโพสต์ของเรานาน ๆ เท่านี้ Algorithm ก็จะไม่น่ากลัวอีกต่อไป แต่กลับจะเป็นตัวช่วยคัดสรรคอนเทนต์คุณภาพของเรา เสิร์ฟถึงหน้าฟีดของผู้อ่าน ทำให้มีคนเห็นผลงานของเราเยอะขึ้น ทั้งยังช่วยตรวจสอบและคัดกรองเพจที่ลอกเนื้อหาของคนอื่นมาด้วย

 

 

รับมืออย่างไร เมื่อใคร ๆ ก็สามารถเป็นบล็อกเกอร์ 

 

จำนวนเพจท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้บล็อกเกอร์หน้าใหม่ที่มียอดติดตามเพียงหลักหมื่น เริ่มเข้ามามีส่วนแบ่งทางการตลาด และอาจทำให้บล็อกเกอร์หลักแสนต้องสะเทือนได้เหมือนกัน นอกจากปัญหาการตัดราคากันระหว่างเจ้าเล็กและเจ้าใหญ่แล้ว  คุณไข่มุกและคุณบีมยังสะท้อนให้เห็นเทรนด์ในปัจจุบันซึ่งเอเจนซี่เริ่มจ้าง Micro Influencer เจ้าเล็ก ๆ หรือเพจหลักหมื่นในการรีวิวมากขึ้น เนื่องจากมองว่าจำนวนเงินที่อาจจ้างเพจใหญ่ได้เพจเดียวนั้น สามารถจ้าง Micro Influencer ได้หลายเพจ กระจายการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่า 

 

ขณะเดียวกัน เอเจนซี่บางแห่งยังให้ความสำคัญกับตัวตนหรือคาแรกเตอร์ของเพจเล็ก ๆ ที่โดดเด่น หรือตรงกับกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ โดยไม่สนใจยอดผู้ติดตามหรือ Engagement เพราะลูกค้ามีงบที่สามารถ Boost โพสต์ได้อยู่แล้ว

 

แน่นอนว่าเทรนด์นี้อาจกระทบกับบล็อกเกอร์ที่ทำเพจท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก แต่บล็อกเกอร์มืออาชีพอย่างคุณรุ่งก็ยังยืนยันว่า Micro Influencer ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าเพจของเราดีจริง เชื่อว่าอย่างไรลูกค้าก็ต้องเลือกเรา เช่นเดียวกับคุณไข่มุกที่เห็นด้วยว่า ตัวตนของเพจมีความสำคัญต่อการเลือกจ้างของลูกค้ามาก และก็สำคัญกับผู้ติดตามเพจเช่นกัน หลายครั้งคุณไข่มุกเองจึงเลือกที่จะกระจายโพสต์รีวิวสินค้าและบริการต่าง ๆ ไม่ให้อยู่ติดกันจนเกินไป เพื่อรักษาภาพลักษณ์และตัวตนต่อลูกเพจนั่นเอง 

 

 

เส้นทางบล็อกเกอร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า 

 

เพราะเส้นทางการเป็นบล็อกเกอร์อาจยังไม่มีจุดหมายปลายทางที่ชัดเจนเหมือนเวลาที่พวกเขาวางแผนออกไปเที่ยว แต่อย่างน้อย ทุกคนก็พยายามหาที่ทางของตัวเองในอนาคต โดยไม่หยุดเดินทางท่องเที่ยวและแบ่งปันประสบการณ์ให้กับคนทั่วไปเหมือนที่เคยทำมา

 

คุณอิฐ มองว่าเฟซบุ๊กยังคงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมกับการนำเสนอคอนเทนต์ท่องเที่ยว มากกว่าแพลตฟอร์มไหน ๆ อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์น่าจะเป็นแพลตฟอร์มที่มีความมั่นคงกว่า ซึ่งคุณอิฐมองว่าเพจของเราน่าจะอยู่ในแพลตฟอร์มหรือช่องทางอื่นควบคู่กันไปด้วย ไม่ใช่ในเฟซบุ๊กอย่างเดียว 

 

เช่นเดียวกับคุณรุ่งที่มองเห็นความสำคัญของเว็บไซต์ แต่ก็ยังเชื่อว่า โซเชียลมีเดียจะไม่หยุดอยู่แค่นี้ น่าจะมีอะไรใหม่ ๆ ออกมาสร้างความเปลี่ยนแปลงอีก และเพจท่องเที่ยวในเฟซบุ๊กอาจจะไม่ได้อยู่ยืนยงไปถึง 10 ปีข้างหน้า คุณรุ่งจึงวางแผนที่จะปรับตัวตามกระแสคลื่นโซเชียลมีเดียลูกใหม่ ๆ ให้ทัน รวมถึงปรับตัวรับการมาของ AI ตลอดจนพัฒนาตัวเองให้เป็น Content Developer ที่ดีให้ได้ 

 

ด้านคุณบีม ยังคงคิดหาช่องทางหรือธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถสร้างรายได้และสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยยังคงเก็บการท่องเที่ยวและการทำเพจไว้เป็นงานอดิเรก คล้ายกับแผนของคุณไข่มุกที่อาจจะหางานอื่นทำควบคู่ไปด้วยเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ และยังเชื่อว่าเพจท่องเที่ยวน่าจะอยู่ต่อไปได้อีกนาน เพียงแต่ไม่สามารถคาดเดาทิศทางของรายได้ในอนาคต 

 

แม้ว่าเพจท่องเที่ยวจะเพิ่มจำนวนขึ้น แต่ทุกคนยังคงเชื่อในการผลิตคอนเทนต์คุณภาพ ซึ่งจะเป็นการรักษาระดับความน่าเชื่อถือของเพจไม่ให้ถูกกลืนหายไปกับคลื่นบล็อกเกอร์หน้าใหม่ ๆ และแม้ว่าสถานที่ท่องเที่ยวอาจจะเริ่มซ้ำเดิม ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ทุกคนเชื่อว่าคอนเทนต์ท่องเที่ยวจะยังพัฒนาไปต่อได้ หากสร้างสรรค์การนำเสนอด้วยสไตล์และมุมมองที่ต่างกัน 

 

 

 

 

...ส่งเสียงของเราให้ดังขึ้น...

 

การรวมพลังของบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวในอนาคต

 

ไม่เพียงวางแผนปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เหล่าบล็อกเกอร์ยังเริ่มคิดถึงการรวมตัวเพื่อก่อตั้งองค์กรหรือสมาคม เพื่อเป็นศูนย์กลางสร้างมาตรฐานหรือจรรยาบรรณวิชาชีพให้กับเพจท่องเที่ยว รวมถึงออกกฎหรือมาตรการดูแลทั้งบล็อกเกอร์และลูกค้าไม่ให้ถูกเอาเปรียบ และไม่ให้ไปเอาเปรียบใครเช่นกัน 

 

สมาคมยังเป็นความหวังที่จะผลักดันวงการท่องเที่ยวไทยให้ได้มาตรฐานขึ้น ทุกวันนี้เหล่าบล็อกเกอร์ส่วนใหญ่รับงานรีวิวจากลูกค้าถึงร้อยละ 80 ปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือ พวกเขาต้องควบคุมทิศทางการรีวิวให้ออกมาในเชิงบวกเสมอ ไม่สามารถวิจารณ์ข้อบกพร่องของลูกค้าได้อย่างตรงไปตรงมา แต่หากเป็นคอนเทนต์ของตัวเอง พวกเขากล้าที่จะตำหนิรสชาติอาหารหรือการให้บริการของโรงแรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งบล็อกเกอร์หลายคนมองว่าพวกเขาควรซื่อสัตย์ต่อคนอ่านด้วยการรีวิวตามจริง เพื่อให้คนอ่านได้ทราบข้อเท็จจริง และลูกค้าเองก็จะได้เสียงสะท้อนจริง ๆ กลับไปปรับปรุงแก้ไข สมาคมหรือองค์กรกลางอาจจะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ เพื่อยกระดับการทำงานของบล็อกเกอร์ โดยเปลี่ยนจากการรับใช้ลูกค้า เป็นการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาร่วมกันทั้งวงการ

 

ขณะเดียวกัน หากเกิดการรวมตัวขึ้น พวกเขาก็จะเข้มแข็งพอที่จะดูแลกันเองหากมีบล็อกเกอร์คนไหนได้รับความไม่เป็นธรรม ปกติแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์อย่างเช่น ถูกตัดเครดิตและขโมยภาพไปใช้ การไปแจ้งความนั้นยังไม่สามารถเอาผิดกับผู้ก่อเหตุได้จริง บางเพจต้องอาศัยวิธีการให้ลูกเพจของตนช่วยกันรีพอร์ตเพจที่ทำความผิดแทน ในกรณีนี้ พวกเขาต้องการองค์กรกลางที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรอง หรือส่งให้เสียงของพวกเขาดังขึ้น จนสามารถขึ้นบัญชีดำเพจที่ทำผิดกติกาเพื่อให้เอเจนซี่รับทราบเป็นวงกว้างได้ 

 

ยิ่งไปกว่านั้น สมาคมอาจช่วยยกระดับรายได้ของทุกเพจให้เป็นมาตรฐาน ทำให้ทุกเพจได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม และไม่จำเป็นต้องตัดราคากันอีกต่อไป ทั้งยังสามารถรวมพลังกันประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยวได้อย่างเป็นระบบ ไม่กระจัดกระจายเหมือนที่ผ่านมา

 

ทั้งหมดนี้ คือข้อดีของการจับมือรวมตัวกันเป็นสมาคมของบล็อกเกอร์สายท่องเที่ยว ซึ่งล้วนมาจากฐานอาชีพที่หลากหลาย หากสามารถสร้างมาตรฐานที่ทุกคนยอมรับร่วมกันได้จริง ก็จะช่วยเป็นที่พึ่งให้บล็อกเกอร์เองเวลาเจอกับปัญหา และช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ก้าวหน้าขึ้น จากนี้จึงเป็นหน้าที่ของพวกเขาในการทำการบ้านต่อ ว่าสมาคมจะออกมามีหน้าตาเป็นอย่างไร ต้องมีหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว หน่วยงานรัฐ หรือเอเจนซี่เข้ามาอยู่ร่วมกันหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งอย่างแท้จริง ซึ่งเหล่าบล็อกเกอร์ก็เห็นด้วยว่า ดีกว่าต่างคนต่างทำอย่างแน่นอน

 

และนี่คือเส้นทางการเติบโตของเหล่าบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวเจ้าของเพจหลักแสนและหลักล้าน ที่ต้องผ่านบทพิสูจน์ทั้งการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ การสร้างคอนเทนต์คุณภาพเพื่อสังคม การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้าและลูกเพจ ตลอดจนการก้าวตามกระแสเทคโนโลยีไม่ให้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และก้าวต่อไปในการรวมตัวกันจัดตั้งสมาคมหรือองค์กรของตัวเองนั้น ก็น่าจับตาว่าจะเป็นไปได้จริงหรือไม่ และจะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างไร

 

เหล่าบล็อกเกอร์รุ่นพี่ยังฝากทิ้งท้ายถึงบล็อกเกอร์มือใหม่ว่า ถ้าใครอยากกระโดดลงมาทำเพจท่องเที่ยว ก็ขอให้เริ่มลงมือทำเลย เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจ มีเป้าหมาย รักและมีความสุขในสิ่งที่ทำ รวมถึงเข้าใจการทำคอนเทนต์ท่องเที่ยว ถ้าคุณทำเพียงเพราะอยากได้เงิน วันหนึ่งคุณจะไปไม่รอด แต่ถ้าทำเพราะความรักจริง ๆ อย่างไรก็ไปรอด 

 

...เพราะกาลเวลาจะพิสูจน์เองว่าใครคือตัวจริงในเส้นทางสายนี้...

Beam1.jpg
 Khaimook1.jpg
IT1.jpg
Rung1.jpg

รุ่งนคร ยอดคำตัน

เอกประวัติ สวัสดิ์โรจน์

ภัทรารวีย์ เกตุธีรโรจน์ 

กฤษนันท์ สุวรรณวิเชียร

เรียบเรียงโดย

นิชนันท์ กิตติคุณ 1.jpg

นิชนันท์   กิตติคุณ

Screen Shot 2563-03-13 at 11.18.37.png
Short Caption

Short Article

เมื่ออนาคตของ Blogger ท่องเที่ยวไม่ได้วัดกันที่ยอด Like และ Follow 

แล้วอะไรคือคำตอบของความอยู่รอด?

DSC_65911.jpg

เมื่อการท่องเที่ยวไม่ใช่การพักผ่อนกายใจ หรือเติมความสุขอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นช่องทางที่คนกลุ่มหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า “Blogger สายท่องเที่ยว” เห็นโอกาสในการสร้างรายได้จากการขายประสบการณ์  ซึ่งนับวันจะยิ่งได้รับความสนใจจากคนรุ่นใหม่มากขึ้น อาจจะด้วยเบื้องหน้าที่ดูสวยหรูหรือตลาดที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการประมาณมูลค่าตลาดรวมของ Blogger ท่องเที่ยวในปี 2562 จากทั้งหมด 400 เพจ ที่มีจำนวนยอด Follow ตั้งแต่ 3 หมื่นจนถึง 1 ล้าน สามารถคิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งสิ้น 700 ล้านบาทด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงหลากหลายด้านที่ต้องเผชิญ รวมถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับการเติบโต อะไร? คือหนทางแห่งความอยู่รอดของ Blogger ท่องเที่ยว

ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการจัด Casual Talk ขึ้น โดยมี Blogger ท่องเที่ยวแถวหน้าของเมืองไทย ได้แก่ คุณอิฐ จากเพจเที่ยวจนไม่มีจะแดก, คุณรุ่ง และคุณดาว จากเพจ TripTH ทริปไทยแลนด์, คุณไข่มุก จากเพจเที่ยวแบบกรู และคุณบีม จากเพจเที่ยวก่อนตาย Bucket list TH ร่วมกับคุณวิษณุ เทศขยัน และคุณอังสนา เทศขยัน เจ้าของร้าน Once More Coffee ผู้ก่อตั้ง Once More Community พื้นที่สำหรับการแบ่งปันและพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างแรงบันดาลใจ มาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์ ปัญหาของเส้นทางการเป็น Blogger ท่องเที่ยวที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายคนเห็น รวมไปถึงแนวทางในการพัฒนาสายอาชีพ Blogger ท่องเที่ยวในอนาคต 

หลากแง่หลายมุมล้วนผ่านการบอกเล่าด้วยรอยยิ้มในบรรยากาศเป็นกันเอง บทสนทนาพาเราย้อนกลับไปประมาณ 4 - 5 ปีก่อน ในวันที่ Blogger ทุกคนเริ่มต้นทำเพจด้วยใจรักในการท่องเที่ยว และเพียงอยากนำประสบการณ์มาแบ่งปันบนโลกออนไลน์ แต่หลังจากพวกเขาเริ่มมีรายได้ตอบแทนและมองเห็นศักยภาพในการทำเป็นอาชีพ เพจที่เคยทำสนุก ๆ ก็ต้องยืนหยัดเติบโตให้ได้บนสนามแข่งขันและการเปลี่ยนผันของโลกโซเชียล บ้างเลือกใส่ความเป็นตัวเองและมองเป้าหมายความสุขมากกว่ายอด Like บ้างเลือกวางตัวตนเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม ในขณะที่บางคนก็ยังคงทำงานประจำควบคู่ไปด้วย วันนี้ Blogger ท่องเที่ยวจึงต้องสวมหมวกนักบริหารโดยคำนึงการตลาดออนไลน์ การตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงการรักษามาตรฐานคุณภาพในการสร้างคอนเทนต์ ที่ยังสะท้อนตัวตนที่ชัดเจนไปพร้อม ๆ กัน

Blogger แต่ละท่านยังช่วยกันยกประเด็นความท้าทายที่พวกเขาต้องรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกคอนเทนต์ให้ปรากฏบนหน้าฟีดของ Facebook Algorithm เพจคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความนิยมของเอเจนซี่ในการใช้งาน Micro Influencer เจ้าเล็ก ๆ ที่มีตัวตนน่าสนใจ แม้ว่าจะมียอดผู้ติดตามไม่สูงนักก็ตาม ในฐานะเจ้าของเพจใหญ่หลักแสนและหลักล้าน พวกเขายังคงยืนยันว่า การสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีประโยชน์ สดใหม่ ผ่านตัวตนที่มีเอกลักษณ์ไม่มีใครเหมือน คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้เพจของเราไม่ถูกกลบหายไปพร้อมกับการมาของเพจใหม่ ๆ ตราบใดที่เรามีตัวตนชัดเจนและคอนเทนต์ที่ดีพอ เราก็จะยังเป็นตัวเลือกที่น่าเชื่อถือสำหรับลูกค้า และแม้แต่ Facebook Algorithm ก็ยังกลายเป็นตัวช่วยให้ผู้อ่านเห็นผลงานของเรามากขึ้นด้วย

NUI092791.jpg

ในอนาคตที่ยากจะคาดเดาภาพการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล เหล่า Blogger เชื่อว่าคอนเทนต์ท่องเที่ยวยังคงมีที่ทางไปต่อได้ แต่จะยังเป็นแพลตฟอร์มอย่าง Facebook หรือไม่ ทิศทางรายได้จะเป็นอย่างไร ยังเป็นปรากฏการณ์ที่พวกเขาต้องจับตามองเพื่อปรับตัวให้ทัน หลายคนมุ่งมั่นพัฒนาตัวเองให้เป็น Content Developer ที่แข็งแกร่ง และมองไกลไปถึงวันที่สามารถช่วงชิงใช้ AI ให้ทำงาน โดยไม่รอให้ถึงวันที่ AI เข้ามาแทนที่ 

ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังเริ่มวางแผนรวมตัวกันเป็นองค์กรหรือสมาคม เพื่อเป็นศูนย์กลางสร้างมาตรฐานหรือจรรยาบรรณวิชาชีพให้กับเพจท่องเที่ยว นำไปสู่การออกมาตรการป้องกันการเอารัดเอาเปรียบต่าง ๆ การยกระดับรายได้ ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมการวิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีก

Blogger รุ่นพี่ยังฝากคำแนะนำถึงมือใหม่ที่สนใจสร้างเพจท่องเที่ยวของตัวเองว่า ขอให้มีความรักและตั้งใจในสิ่งที่ทำ ถ้าเป้าหมายของคุณคือเงินเพียงอย่างเดียว คุณจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ แต่หากเป้าหมายคือความสุขที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก วันหนึ่งข้างหน้าคุณจะกลายเป็นตัวจริงในเส้นทางสายนี้อย่างแน่นอน

 

ติดตามบทความอื่นๆ  และ  Side Story  ที่น่าสนใจได้ที่    https://www.facebook.com/coffeecasualtalk/

เรียบเรียงโดย

ฑิตยา ชีชนะ  1.jpg

ฑิตยา   ชีชนะ

และ

นิชนันท์ กิตติคุณ 1.jpg

นิชนันท์   กิตติคุณ

Screen Shot 2563-03-13 at 11.18.37.png
Side Story

Side story 1

Blogger ท่องเที่ยว มูลค่าตลาดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

C3G1.png
C3G5.png
C3G4.png
C3G2.png
C3G3.png

มูลค่าตลาดของ Blogger ท่องเที่ยวในปี 2019 ที่ผ่านมามีมูลค่าประมาณ 700 ล้านบาท คำนวณจากเพจท่องเที่ยวทั้งหมด 400 เพจ (ข้อมูลจาก Blogger ท่องเที่ยว ประมวลผลวิธีทางสถิติ) ตัวเลขยอดรวมที่คำนวณได้ มาจากเพจที่แบ่งตามจำนวนผู้ติดตามเพจจากน้อยหามาก ซึ่งจะมีมูลค่าที่แตกต่างกันไปตามความนิยมหรือจำนวนผู้ติดตาม แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเพจท่องเที่ยวที่มีผู้ติดตามระหว่าง 3 หมื่น - 1 แสนคน ประมาณ 200 เพจ กลุ่มเพจที่มีผู้ติดตาม 1 แสน - 3 แสนคน ประมาณ 120 เพจ กลุ่มเพจที่มีผู้ติดตามระหว่าง 3 แสน - 5 แสนคน ประมาณ 50 เพจ และกลุ่มที่มีผู้ติดตามมากกว่า 5 แสนคนขึ้นไป ประมาณ 20 เพจ จากกลุ่มเพจทั้ง 4 กลุ่มนี้ที่รวมเป็นจำนวนเพจทั้งหมด 400 เพจ เป็นจำนวนเพจในการใช้คำนวณหามูลค่ารวมของตลาดในปี 2019 (จำนวนเพจท่องเที่ยวอาจมีกว่านี้ถ้านับรวมเพจที่มีผู้ตามน้อยกว่า 3 หมื่นคนลงมา ซึ่งอาจสร้างรายได้ในมูลค่าที่ไม่มากจึงไม่นำมาใช้ร่วมในการคำนวณ)

 

เพจที่มีผู้ติดตามมากโดยทั่วไปจะสร้างมูลค่าได้สูงกว่าเพจที่มีผู้ตามน้อย ซึ่งการสร้างมูลค่าหลักมาจากการรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ การรีวิวแต่ละครั้งเริ่มต้นที่ 15,000 บาทไปจนอาจสูงถึงหลักแสนบาท  Blogger ท่องเที่ยวยังมีช่องทางสร้างมูลค่าอื่นๆอีก เช่น การโฆษณาเพื่อโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในเพจของตัวเอง (แม้จะไม่ได้ไปรีวิวในสถานที่นั้นๆ) การแนะนำหรือทดลองใช้สินค้า (Tie-in Product) ระหว่างทริปของการรีวิวต่างๆ เช่น กระเป๋า รองเท้า รถยนต์ ฯลฯ และยังอาจรวมถึงการ Barter กับให้สินค้าหรือบริการที่สามารถช่วยลดราคาหรือใช้บริการฟรีแลกกับการสร้างการรับรู้ให้กับผู้ติดตามในเพจ เช่น ที่พัก สายการบิน รถเช่า ฯลฯ ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการทำงานลงในทางกลับกันเทียบได้ว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้นั่นเอง ทั้งหมดนี้ทำให้ Blogger ท่องเที่ยวมีช่องทางในการสร้างมูลค่าได้มากกว่าแค่การรับรีวิวเพียงเท่านั้น

 

ในกลุ่ม Blogger ท่องเที่ยวที่ทำเป็นอาชีพ และกลุ่มที่พัฒนาเป็นธุรกิจในรูปแบบบริษัท ทั้งสองกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีผู้ติดตามเพจจำนวนมาก การรีวิวแหล่งท่องเที่ยวอาจทำได้มากกว่า 5 ทริปต่อเดือน แต่ละทริปของการเดินทางอาจรีวิวได้มากกว่าหนึ่งสถานที่  โดยทั่วไปจะเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 4-5 ทริปต่อเดือนและสามารถรีวิว 5-10 แหล่งท่องเที่ยวต่อเดือน นี่จึงเป็นที่มาของความสามารถในการสร้างมูลค่าตลาดที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง

 

มูลค่าตลาดรวมที่สูงราว 700 ล้านบาทของเพจท่องเที่ยว 400 เพจในปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการใช้งบโฆษณาในกลุ่ม Influencer Marketing ในสื่อออนไลน์ทั้งหมดในปี 2019 (ประมาณ 2,000 ล้าทบาท) หมายความว่าเฉพาะกลุ่ม Blogger ท่องเที่ยวกลุ่มเดียว สามารถสร้างมูลค่าได้สูงถึง 35% ของมูลค่ารวมของตลาด Influencer ทั้งหมด ตัวเลขนี้น่าจะพอเรียกร้องให้ใครหลายๆคนหันมามองพลังของ Blogger ท่องเที่ยวเพื่อร่วมกันส่งเสริมและผลักดันการเพิ่มมูลค่าตลาดให้กับ Blogger กลุ่มนี้ เพราะถ้าจินตนาการต่อเนื่องไปอีกนิด ก็จะเห็นภาพที่ค่อนข้างขัดเจนว่าเม็ดเงินที่ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวจากมูลค่าตลาด 700 ล้านบาทที่ Blogger ท่องเที่ยวเหล่านี้สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ น่าจะสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้ไม่น้อยกว่า 3-5 เท่าตัว (จากรายได้ของผู้ประกอบการท่องเที่ยว, สินค้าและบริการรวมถึงเศรษฐกิจชุมชนที่เกี่ยวเนื่อง) นั่นหมายถึงตัวเลขที่อาจสูงถึงราว 3,500 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

Screen Shot 2563-03-13 at 11.18.37.png

Side story 2

10 มุมมองของเพจท่องเที่ยวอันดับต้นๆ เค้าคิด เค้าทำยังงัยให้เพจโดดเด่น โดนใจ

วิธีการสร้างคอนเท้นท์

1. “Caption ต้องโดนใจ หลายคนคิดแต่ไม่กล้าแสดงออก เอา caption ของเราไปแชร์ เราพูดแทนให้ได้”

เอกประวัติ สวัสดิ์โรจน์ #เที่ยวจนไม่มีจะแดก

 

2. “นำเสนอในสิ่งที่จับต้องได้ (Trip ท่องเที่ยว) ไม่แพงหรือถูกจนเกินไปและคุ้มค่า เลือกการนำเสนอให้เข้าถึงคนทั่วไปได้ง่าย”

ภัทรารวีย์ เกตุธีรโรจน์ #เที่ยวแบบกรู

 

3. “การเขียนรีวิว เส้นทางตามรอยสำคัญมาก ผมพยายามรวบรวม link ที่เกี่ยวข้องมาใส่ไว้ด้วยเพื่อให้รู้สึกสะดวกอ่านง่าย จบในรีวิวเดียว”

กฤษนันท์ สุวรรณวิเชียร #เที่ยวก่อนตาย

 

4. “เวลาทำคอนเท้นท์ผมไม่ได้มองมุมของตัวเอง ผมมองจากมุมของคนอื่น มองจากมุมของคนอ่าน ว่าเค้าอยากเห็นอะไร อยากทำอะไร อะไรที่จะเป็นประโยชน์กับเค้า(คนอ่าน)”

รุ่งนคร ยอดคำตัน  #Trip Th

 

5. “ผมติดป้ายที่ออฟิตไว้ว่า “เราจะทำคอนเท้นท์ที่มีประโยชน์ต่อสังคม” แล้วก็นั่งคิดอยู่นานว่า Vision ของเราคืออะไร แล้วก็เห็นป้ายนี้ มันติดอยู่ที่นี่ตั้งนานแล้ว มันคือ Vision ของผม”

รุ่งนคร ยอดคำตัน  #Trip Th

DSC_64921.jpg

เกี่ยวกับ Algorithm

6. “การลงแค่รูป 4 ภาพบางทีก็สร้างการรับรู้ได้ดีมากๆ บางทีอาจเป็นเพราะข้อมูลใน Social (Media) มันเยอะเกินไปละ คนอ่านอาจจะอยากดูอะไรที่สั้นๆอะไรแบบนี้นะครับ”

กฤษนันท์ สุวรรณวิเชียร #เที่ยวก่อนตาย

 

7. “Algorithm มันคือการเรียงลำดับความสำคัญ อะไรที่เราดูบ่อยๆ กด Link บ่อยๆ หรือ Video ที่เราดูนานๆก็จะถูกเรียงลำดับ อะไรที่เราชอบก็จะถูก Feed ขึ้นมาให้เราเห็น Algorithm ไม่ได้มีผล (กระทบในการสร้างคอนเท้นท์) มันช่วยเราด้วยซ้ำไป”

รุ่งนคร ยอดคำตัน  #Trip Th

 

การแก้ปัญหาตัวตนกับธุรกิจ

8. “Blogger บางคนเลือกใช้วิธีบอกลูกค้า (ที่ว่าจ้างรีวิว) ตรงๆว่าอะไรที่ไม่ดี ควรปรับแก้ ซึ่งมันก็ Win Win สำหรับทั้งคนอ่าน Blog และลูกค้า จะได้ไม่ต้องหลอกคนอ่านและก็ทำให้ลูกค้าปรับปรุงคุณภาพไปได้ด้วย”

กฤษนันท์ สุวรรณวิเชียร #เที่ยวก่อนตาย

 

9. “เราทำงานผ่าน Agency ซึ่งทางเค้าจะเชื่อมโยงกับลูกค้าเอง Agency คงไม่น่าจะอยากบอกเรื่องแบบนี้ (จุดด้อยของลูกค้าที่ควรปรับปรุง) ให้ลูกค้าฟัง มันเลยทำให้เราไม่สามารถคุยกับลูกค้าได้โดยตรง”

กฤษนันท์ สุวรรณวิเชียร #เที่ยวก่อนตาย

 

10. “เราต้องพัฒนาคอนเท้นท์ให้ตอบโจทย์ Agency, ลูกค้าและแบรนด์ให้ได้ ผมไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มองว่า คนที่ปรับตัวก็จะข้ามไปได้ ถ้าไม่ปรับตัวก็จะถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง”

รุ่งนคร ยอดคำตัน  #Trip Th

Screen Shot 2563-03-13 at 11.18.37.png

Side story 3

เทรนด์    Micro Influencer กำลังมา  Blogger ท่องเที่ยวว่างัย!

เมื่อ Trend ของ Agency เริ่มเปลี่ยนการจ้าง Review หรือ Tie-in จาก Page ใหญ่ๆมาเป็น page ขนาดเล็กที่เรียกว่า Micro Influencer เพราะมีตัวตนที่ชัดเจนโดดเด่น ใช้งบที่ถูกกว่าจึงจ้างได้มากขึ้นและกระจายได้มากกว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อ Blogger ท่องเที่ยวแค่ไหน สำหรับ Blogger ทั้ง 4 เพจมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น แต่ก็เป็นโอกาสให้พวกเขาพัฒนาการสร้าง Content ที่ฉีกและแตกต่างรวมถึงเข้าถึงผู้อ่านหรือสังคมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นที่การพัฒนาในแนวทางที่แต่ละคนถนัด และ Algorithm ของ Social Media Platform ก็ยิ่งจะเป็นตัวช่วยคัดกรอง Content ที่ด้อยคุณภาพออกไปเอง ซึ่งพวกเขามองว่า Algorithm เหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าโทษด้วยซ้ำ

Kaimook1.png

และมุมมองที่ Blogger ท่องเที่ยวที่คุยกับเราเห็นคล้ายๆกันอีกก็คือ เรื่องความเป็นธรรมชาติ ความถี่ และความเร็ว ทั้งสามเรื่องนี้ยังคงเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการสร้าง Content ต่างๆเพื่อให้เข้าถึงผู้ติดตามได้จริง ความเป็นธรรมชาติ คือการสื่อสารที่ตรงไปตรงมา ทั้งภาพถ่ายที่อาจไม่จำเป็นต้องเซ็ทถ่ายให้สวยงามเหมือนในนิตยสาร หรือการใช้ภาษาที่อาจไม่ต้องสละสลวยแต่ควรเน้นคำที่กระชับโดนใจ ความถี่ของการสร้างและ Post Content ที่ควรต้องมากและสม่ำเสมอ และความเร็วในการนำเสนอเรื่องที่น่าสนใจหรือกำลังอยู่ในกระแสก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่เสมอเช่นเดียวกัน

 

ในอีกด้านหนึ่ง Blogger ท่องเที่ยวบางคนก็สามารถปรับตัวเองให้เป็น Micro Influencer ได้ด้วยในรูปแบบของ Page ส่วนบุคคล ซึ่งกลายเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่เพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยการบริหารภาพลักษณ์ใน Page ส่วนตัวของตนเองอย่างเหมาะสม เพราะนอกจากจะต้องเปิด Page ของตนเองให้เป็นสาธารณะเพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้แล้ว การ Post งานของลูกค้าที่บ่อยหรือถี่เกินไปก็อาจทำให้แฟนเพจเบื่อหน่ายและอาจเลิกติดตามซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อตัวตนของพวกเขา

 

Trend Micro Influencer จึงไม่ได้สร้างปัญหาให้กับ Blogger ท่องเที่ยวมากนักถ้าเทียบกับ Influencer ด้านอื่นๆ เช่น ด้านอาหารหรือความงาม พวกเขากลับมองว่าเป็นโอกาสในการช่วยให้เกิดการแข่งขันและการพัฒนาการสร้าง Content ที่ดีและเป็นประโยชน์กับผู้ติดตามไปด้วยในขณะเดียวกัน

Screen Shot 2563-03-13 at 11.18.37.png

Side story 4

Platform ใหญ่กินรวบ อะไรคือทางรอดของ Blogger ท่องเที่ยว?

ทุกๆ Platform ต่างก็ต้องพัฒนารูปแบบการให้บริการใหม่ๆ ซึ่งก็หนีไม่พ้นการปรับเปลี่ยนวิธีการต่างๆอยู่เสมอ เช่นการปรับเปลี่ยน Algorithm การมองเห็นใน Social Netwotk ผลักดันให้แบรนด์ต่างๆให้มาใช้บริการ Micro และ Nano Influencer มากขึ้น หรือบาง Platform ก็ควบรวมการให้บริการแหล่งท่องเที่ยว ที่พักและร้านอาหารรวมถึงกิจกรรมต่างๆให้สามารถค้นหาได้ครอบคลุม และยังให้ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถรีวิวการบริการต่างๆได้เองทั้งหมด การปรับเปลี่ยนแนวทางและการเปิดบริการใหม่เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  Blogger ท่องเที่ยวทั้งสี่เพจที่คุยกับเรามองเรื่องนี้อย่างไร

“อิฐ” จากเพจ #เที่ยวจนไม่มีจะแดก มองว่าไม่ควรพึ่งพา Platform ใดที่เดียว การมี Website ของตนเองเป็นเรื่องจำเป็นและเป็นความยั่งยืนที่ไม่ควรมองข้าม อยากให้ Blogger ท่องเที่ยวที่ยึดเป็นอาชีพควรมีพื้นที่บน Website เป็นของตนเอง

 

“รุ่ง” จากเพจ #TripTH เห็นด้วยที่ไม่ควรพึ่งพาที่ใดที่หนึ่ง และมองว่าควรปรับตัวร่วมไปกับ Social Network ต่างๆให้ได้ เพราะนับวันจะมี Platform ใหม่ๆเกิดเพิ่มมากขึ้นและเข้าถึงวิถีชีวิตของผู้คนมากยิ่งๆขึ้นด้วย ดังนั้นจึงควรพร้อมเสมอที่จะต้องปรับตัวเองไปพร้อมๆกับแนวทางใหม่ๆ ช่องทางใหม่ๆที่เกิดขึ้นให้ได้

“บีม” จากเพจ #เที่ยวก่อนตาย คิดว่าเนื้อหาที่ดีจะข้อพิสูจน์ด้วยตัวมันเอง ซึ่งตัวตนเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องหาสมดุลของการสร้าง Content ในรูปแบบที่เป็นตัวเองและเหมาะสมกับธุรกิจให้ได้ นั่นคือทางออกของการทำงานที่เหมาะสม ที่สามารถสร้างความสุขให้กับตัวเองและสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าได้ด้วย

DSC_65981.jpg

ไข่มุก จากเพจ #เที่ยวแบบกรู คิดว่า Content ที่ดียังคงมีความสำคัญเสมอ เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องสร้างเนื้อหาที่ดีอย่างต่อเนื่องให้ได้ การยืนระยะให้ได้จะพิสูจน์การยอมรับของผู้อ่านและสังคมเองในท้ายที่สุด

และที่ทั้ง 4 เพจเห็นเหมือนกันก็คือ ไม่ว่าแนวทางของ Platform ต่างๆจะเปลี่ยนไปอย่างไรหรือมีบริการใหม่ๆเกิดขึ้นมากแค่ไหน สุดท้ายเนื้อหาที่ดีก็ยังเป็นหัวใจสำคัญ เพราะนี่คือสิ่งเดียวที่ Platform เหล่านั้นไม่สามารถสร้างเองได้ ยังคงต้องอาศัยผู้สร้างเนื้อหาที่ดี นั่นจึงทำให้ประโยคที่ว่า “Content is the King” ยังคงเป็นจริงอยู่เสมอ อย่างน้อยก็ในตอนนี้และในอนาคตที่ไม่ยาวไกลเกินไปนัก

Screen Shot 2563-03-13 at 11.18.37.png
bottom of page