
Essential
OPTIMISTIC REALIZE
#essential, #วิษณุเทศขยัน, #brandtellers, #brandidentity, #brandcommunication, #shockadvertising, #shockvertising, #สองแง่สองง่าม, #คำผวน
2025-05-15
Shockvertising
ยังงัยก็ได้? ให้โลกจำ
ระยะหลังในแวดวงสื่อสารการตลาด การตั้งชื่อแคมเปญรวมไปถึงชื่อสินค้าหรือบริการ หรืออาจรวมไปถึงการสร้างชื่อแบรนด์มีการใช้ภาษาแบบ “สองแง่สองง่าม” หรือ “คำผวน” ที่สื่อถึงเรื่อง “เพศ” ทั้งแบบทางอ้อมและทางตรงให้เห็นอยู่บ่อย ๆ คนตั้งชื่อคงหวังให้ดูฉีก แปลกใหม่ แสดงความกล้าท้าทายเพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คน ด้านผู้รับสื่อบางคนชอบเพราะสนุกหรือ ตลกดี บางคนอาจเฉย ๆ แต่ก็มีบางส่วนที่รู้สึกอึดอัดไม่ชอบ
เราควรมองเรื่องนี้อย่างไร อะไรคือความเหมาะสม มากหรือน้อย ควรไม่ควรอย่างไร
ถ้าว่าถึงสาเหตุ อาจมาจากยุคนี้ที่ช่องทางการสื่อสารมีมากและเปิดกว้างจนใครก็สามารถเป็นนักสื่อสารการตลาดได้ การเป็นเจ้าของธุรกิจก็ไม่ได้ยาก เกิดได้ง่าย อาจตายเร็ว แต่ไม่มีใครจำ เกิดใหม่ได้อีก การสร้างอะไรที่มันฉีก ท้าทาย จึงเป็นความเสี่ยงที่ทำได้ของนักการตลาดและแบรนด์กลุ่มหนึ่งอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน (ขอไม่เอ่ยถึงชื่อแบรนด์เหล่านี้ เพราะอาจทำให้เกิดความเสียหาย เจตนาก็เพื่อสร้างความเข้าใจในการพัฒนาธุรกิจและการสื่อสารการตลาด)
ที่จริงมีรูปแบบคล้าย ๆ กันที่เรียกว่า “Shock Advertising” หรือ Shockvertising มีมาก่อนหน้านี้ 30-40 ปีแล้ว เป็นการสร้างโฆษณาหรือแคมเปญที่ดึงเรื่องเสียดสีสังคม การเหยียดสีผิว ศาสนา ความรุนแรง เรื่องเพศ การเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ มาเป็นเนื้อหาหลักของโฆษณา (ดูภาพประกอบ) เพื่อสร้างความ “ช็อค” ในขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงไปสู่การสะท้อนจุดเด่นที่เป็นตัวตนของแบรนด์หรือจุดขายของสินค้าหรือบริการของตนเองไปด้วยพร้อมๆ กัน
ซึ่งก็เป็นการ “โฆษณา” รูปแบบหนึ่งที่หวังผลเพื่อสร้างการจดจำและแสดงออกถึงบุคลิกภาพของแบรนด์ (สามารถอ่านเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติมได้จาก https://www.essential.co.th/s1ep2-new-consumer-standardiz )
ที่เป็นที่พูดถึงกันมากคือแคมเปญของ Benetton (แบรนด์แฟชั่นอิตาลี) ที่ออกแบบโดย Oliviero Toscani ในปี 1980-90 ใช้ประเด็นทางสังคมมานำเสนอภาพ Poster โฆษณาที่รุนแรงเพื่อให้เกิดการโต้เถียง แสดงความกล้า ท้าทาย สะท้อนอัตลักษณ์ด้านแฟชั่นของแบรนด์ที่เป็นตัวของตัวเอง เด็ดเดี่ยว จนสร้างให้เกิดการจดจำแบรนด์ได้ดี เช่น ภาพหญิงผิวดำเปลือยอกอุ้มเด็กทารกผิวขาวในท่าของการให้นมจากอกของตนเอง ที่สะท้อนถึงการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติ
แนวคิดการสร้างแคมเปญโดยดึงเอาประเด็นความรุนแรงมานำเสนอนี้ แพร่กระจายไปสู่แบรนด์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายองค์กร ซึ่งคาดว่าน่าจะได้แนวทางมาจากการสร้างงานศิลปะในยุคก่อนหน้านั้นที่ชื่อ “Shock Art” เป็นการสร้างงานศิลปะที่มีแนวคิดการนำเสนอด้านความรุนแรงเช่นเดียวกัน ต่างกันตรงที่เป็นการแสดงความคิดของศิลปิน ถ่ายทอดมุมมองเพื่อสะท้อนประเด็นการวิพากษ์สังคมในด้านต่าง ๆ เป็นหลัก
กลับมาในสังคมไทย มีหลายเหตุการณ์ที่บ่งบอกว่าเรายังไม่พร้อมต่อการวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเปิดกว้าง ตรงไปตรงมาและรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นความเห็นต่าง อาจสร้างผลกระทบได้มากอย่างที่ชาวต่างชาติจากวัฒนธรรมอื่นไม่เข้าใจ เรื่องที่อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ได้สำคัญอะไรนักในสายตาของพวกเขา แต่ในสังคมไทยกลับกลายเป็นเหตุให้ “ทัวร์ลง” จนหมดสิ้นหนทางทำมาหากิน ธุรกิจย่อยยับกันไปหลายต่อหลายราย
นี่จึงอาจเป็นเหตุผลว่า ทำไมในสังคมไทยไม่มีโฆษณาหรือแคมเปญสื่อสารแนว “Shock Advertising” เลย
ขณะที่เรื่อง “เพศ” ไม่ได้สร้างผลกระทบด้านความเห็นต่างมากนัก เป็นเรื่องปกปิดที่สนุก ขำขันและทำกันในวงแคบแบบเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว การหยิบเอาเรื่องสองแง่สองง่ามหรือคำที่ผวนแล้วเป็นเรื่องเพศ มาทำเป็นชื่อแคมเปญ ชื่อสินค้าหรือแบรนด์เพื่อสื่อสารต่อสาธารณะ จึงเป็นเสมือนการแสดงความกล้า ท้าทายต่อการทะลุออกไปนอกกรอบที่สังคมขีดไว้ อาจเป็นความรู้สึกเท่แบบหนึ่งของผู้ที่คิดทำสิ่งนี้
ถึงตรงนี้หลายคนคงเห็นภาพชัดขึ้น กับคำถามที่ว่า “อะไรคือเหมาะสม ควรหรือไม่” ที่เกริ่นไว้ตอนต้น คำตอบก็คือ ตราบใดที่การใช้ภาษาแบบ “สองแง่สองง่าม”หรือ “คำผวน” นั้น ๆ ไม่ได้สร้างความรู้สึกย่ำแย่มากจนเกินไป สามารถเชื่อมโยงไปสู่ตัวตนอัตลักษณ์ของแบรนด์หรือจุดแข็งจุดเด่นของสินค้าหรือบริการได้ การใช้ภาษาหรือการตั้งชื่อเหล่านั้นก็สามารถทำได้
ในทางตรงกันข้าม ถ้าคำเหล่านั้นมันมากเกินไปจนทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกอึดอัด และไม่ได้สะท้อนตัวตน คุณค่าจุดแข็งของสินค้าหรือบริการของแบรนด์เลย ทัวร์อาจจะลงแบบเงียบ ๆ จนไปต่อไม่ได้ เป็นการทำร้ายธุรกิจด้วยความผิดพลาดอย่างที่คาดไม่ถึง เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและไม่ควรเกิดขึ้นเลยสำหรับการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาธุรกิจ
**หมายเหตุ: ภาพประกอบที่ใช้ในบทความนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาใด ๆ ที่จะละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือทำให้บุคคลหรือองค์กรใด ๆ เสื่อมเสียชื่อเสียง
วิษณุ เทศขยัน
April 16, 2025
ขอบคุณภาพจาก
Brandvertising